“พฤฒปัญญา” สูตรความสุขของผู้สูงวัย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทั้งในด้านสุขภาพ การสื่อสาร และศิลปวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน โดยได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญดังกล่าวที่ได้มาจัดเป็นหลักสูตรสำหรับผู้สูงวัย รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มีนโยบายหลักในการให้บริการวิชาการที่ “เสพได้ง่าย ใช้ได้จริง” โดยได้รับแรงบันดาลใจในการริเริ่มจัดทำหลักสูตร “พฤฒปัญญา” จากการที่ได้เป็นนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting Researcher) ที่ มหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย และองค์ความรู้จากเครือข่ายวิจัย Center for Southeast Asian Studies มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มาพัฒนาหลักสูตรเพื่อผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยได้รับคำแนะนำจากรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ปัญญา ไข่มุก (วิทยากรหลัก)นำเอาองค์ความรู้ด้านสุขภาพมาประยุกต์ร่วมกับองค์ความรู้ด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม จัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น “พฤฒปัญญา” เพื่อสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุ ให้สามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อภาวะพึ่งพิง และเพิ่มเครือข่ายทางสังคม มีคณะทำงานจากบุคลากร สหสาขาของสถาบันฯ นำความเชี่ยวชาญ ความรู้ และความสามารถที่หลายหลายมาร่วมจัดกิจกรรมบริการวิชาการร่วมกัน “หมอปัญญา” อธิบายว่า “พฤฒ” แปลว่า “ผู้สูงวัยที่มีคุณค่า” “ปัญญา” ก็คือ “องค์ความรู้” เพราะฉะนั้นการที่เราจะใส่องค์ความรู้ให้กับผู้สูงวัย เพื่อให้เขามีคุณค่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับคำว่า “ผู้หลักผู้ใหญ่” ที่โบราณเติมว่า “ผู้หลัก” ไปอีกคำหนึ่ง เพราะต้องการให้หมายถึง “ผู้ใหญ่ที่เป็นหลักยึดเกาะของคนรุ่นหลังได้” ไม่ใช่ “ผู้ใหญ่ที่แค่อายุถึง” ก็เรียกกันว่า “ผู้ใหญ่” แต่จะต้องเป็น “ผู้สูงอายุที่มีคุณค่า” เป็นที่ยึดเกาะของคนรุ่นหลังๆ ได้ โดยเป้าหมายของหลักสูตรพฤฒปัญญา ก็คือ การทำให้เกิด “change agent” หรือองค์กรที่จะเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ต่อไปในอนาคต

Scroll to Top